‘ธิดารัตน์’นั่งประธานสภาอุตฯ เน้นทำงานเป็นทีม ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจโคราช

สภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ เลือก “ธิดารัตน์ รอดอนันต์” ทายาทโรงแป้งใหญ่ “สงวนวงษ์อุตสาหกรรม” นั่งประธานสภาฯ ปีบริหาร ๒๕๖๕-๒๕๖๗ เน้นการทำงานเป็นทีม มีความตั้งใจดีที่จะร่วมกันสนับสนุนโครงการดีดีของจังหวัด ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

ตามที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนคร ราชสีมา นำโดยนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาฯ ปีบริหาร ๒๕๖๑-๒๕๖๓ และวาระปีบริหาร ๒๕๖๓-๒๕๖๕ จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ณ โรงแรมปัญจดารา จ.นครราชสีมา โดยมีการเลือกตั้งคณะกรรมการสภาฯ ชุดใหม่ปีบริหาร ๒๕๖๕-๒๕๖๗ และมีมติเลือกนางธิดารัตน์ รอดอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแป้งมันสำปะหลังขนาดใหญ่ เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นับเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ คนแรกที่เป็นผู้หญิง 
ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๕ นาง ธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมพูดคุยในรายการพบหอการค้า ซึ่งดำเนินรายการโดยนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนายวงศกร นิมมิต รองประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมองค์กร หอการค้าฯ

นางธิดารัตน์ แนะนำตัวว่า “เป็นคนโคราช เรียนมัธยมต้นโรงเรียนมารีย์วิทยา แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศศินทร์) จากนั้นก็มาธุรกิจของครอบครัว คือ บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด เป็นบริษัทผลิตแป้งมันสำปะหลัง มีขายในเมืองไทย แต่ส่วนใหญ่จะส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งโรงแป้งมันสำปะหลังสงวนวงษ์ฯ ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ สมัยก่อนคุณพ่อก็รวบรวมเงินทุนร่วมกับญาติพี่น้องมาทำโรงแป้ง หลังจากก่อตั้งได้ประมาณ ๒๐ ปี พี่น้องก็มีการแบ่งธุรกิจกัน โรงแป้งจึงกลายเป็นธุรกิจของคุณพ่อกับลูกๆ ช่วยกันปลุกปั้นมาถึงทุกวันนี้”

ธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา

ธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา

“ที่ผ่านมาเคยดำรงตำแหน่งรองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ๔ ปี ร่วมทำงานกับกรรมการหลายคน และเห็นการทำงานเสียสละเพื่อสังคมเป็นอย่างดี ก่อนหน้านี้ คุณพ่อ (นายทศพล ตันติวงษ์) ก็เคยทำงานเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เห็นคุณพ่อทำงานให้สภามาโดยตลอด พอจะมองเห็นภาพว่างานจะออกมาว่าหน้าตาเป็นอย่างไร” 

นางธิดารัตน์ กล่าวอีกว่า ในการทำธุรกิจเราก็ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของภาวะการแข่งขัน และความต้องการของตลาดโลก ซึ่งทุกวันนี้โรงแป้งของเราเป็น Single Plant ที่ใหญ่ที่สุด เหตุที่สามารถเป็น Single Plant ที่ใหญ่ที่สุดได้เพราะว่าโลเคชั่นของโคราช เนื่องจากโคราชเป็นพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลังถึง ๒๕% ของพื้นที่ประเทศไทย และจังหวัดรอบๆ โคราช ในกลุ่มนครชัยบุรินทร์ กลุ่มอีสานตอนกลาง อีสานตอนล่างถัดไปซ้ายขวา ก็เป็นจังหวัดที่ปลูกมันจำนวนมาก ทำให้เราสามารถดึงมันสำปะหลัง จากจังหวัดรอบๆ เข้ามาที่โคราชได้ เพราะฉะนั้นที่โคราชยังมีโรงงานใหญ่ๆ หลายโรง ไม่ใช่แค่สงวนวงษ์ฯ โคราชมี ๒๒ โรงงานแป้งมันที่มีขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ก็ชอบมาตั้งอยู่ที่โคราช เพราะการคมนาคมสะดวก และเป็นแหล่งวัตถุดิบใหญ่ของประเทศ สำหรับโรงแป้งสงวนวงษ์ฯ จะผลิตแป้งมันสำปะหลังดิบและแป้งโมดิฟายส์ ส่วนใหญ่ส่งออกไปต่างประเทศ ๙๐% ของผลผลิตทั้งหมด มีในเอเชีย ยุโรป อเมริกา เรียกว่าส่งไปหลายทวีป

“สำหรับสถานการณ์มันสำปะหลังเริ่มดีตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.๒๐๒๐ และปี ๒๐๒๑ ก็อยู่ในระดับที่ดีมาก ทั้งแป้งมันและมันเส้น เพราะเงินบาทอ่อน รวมทั้งข้าวโพดที่ซัพพลายไม่พอใช้และราคาแพง กระทั่งมาถึงปัจจุบันยังเรียกว่า อยู่ในภาวะที่ดีมากกว่าปกติ ไม่ใช่แค่แป้งมันอย่างเดียวแต่รวมถึงมันเส้นด้วย เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ในคลัสเตอร์มันสำปะหลังก็จะได้รับผลประโยชน์ที่ดีร่วมกัน รวมทั้งชาวไร่ด้วย ราคาที่ชาวไร่ขายผลผลิตได้ก็อยู่ในระดับสูงขนาดที่รัฐบาลไม่ต้องให้เงินสนับสนุนแล้ว เมื่อก่อนขายด้วยราคา Discount เมื่อตลาดมีความต้องการต่ำ เป็น high competition environment ทุกคนจะแย่งกันขายเพราะดีมานต์น้อยเกินไป แต่ในปัจจุบันดีมานต์ดีกว่าซัพพลาย ตลาดเป็นของผู้ขาย เพราะฉะนั้น เราสามารถกำหนดได้ในราคาพรีเมียม ซึ่งราคาพรีเมียมนี้ เราได้ทั้งซัพพลายเชน เมื่อโลก  อยู่ในภาวะเงินเฟ้อทำให้ตลาดสามารถรับราคาสูงได้ง่ายมากขึ้นเพราะทุกตัวขึ้นหมด ในส่วนของราคาแป้งก็ไม่มีอะไรในส่วนที่ผ่านมา แต่ในส่วนของเกษตรกรประสบปัญหามากกว่าผู้ประกอบการ เพราะว่า ปุ๋ยแพง ยาฆ่าแมลงก็ห้ามใช้ชนิดที่ราคาถูก ตัวที่ขายในท้องตลาดแพงมากกว่าเดิม ค่าแรงงานก็แพงและหายากจากภาวะโควิด ทำให้แรงงานที่ข้ามมาตามแนวตะเข็บชายแดนยากขึ้นเกษตรกรเจอปัญหามากกว่าผู้ประกอบการ เครื่องจักรเครื่องยนต์ที่ใช้ในไร่ยังมีไม่ครบทุก process ในการเพาะปลูก เกษตรกรจึงได้รับผลกระทบในเรื่องต้นทุนมากกว่าผู้ประกอบการ ถึงแม้จะมีรายได้ในราคาที่ดีขึ้น แต่ภาพรวมแล้วยังไม่ดีพอเพราะต้นทุนสูงในระดับที่จัดการไม่ได้ดี ในขณะที่ผู้ประกอบการขายได้ในราคาพรีเมียม ต้นทุนสูงต่างๆ เราสามารถจัดการได้และยังถือว่าพรีเมียมอยู่” นางธิดารัตน์ กล่าว

นางธิดารัตน์ กล่าวอีกว่า “วันนี้เมื่อเกิดภาวะสงคราม น้ำมันราคาแพงขึ้นก็จะได้รับ ผลกระทบ เวลาที่เขาขนส่งวัตถุดิบมาหาเรา แต่ในขณะเดียวกันโรงแป้งส่วนใหญ่ก็จะมีการผลิตพลังงานความร้อนจากกากมัน และน้ำเสีย ทำให้แม้ว่าราคาน้ำมันจะขึ้นสูง น้ำมันเตาราคาแพง แต่ต้นทุนในการอบแป้งของโรงแป้งไม่ได้เพิ่มขึ้น เป็นการเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงาน และยังผลิตไฟฟ้าใช้เองด้วย จึงทำให้กระทบไม่มาก แต่สิ่่งที่กระทบมากๆ คือ ค่าเฟรทเรือ (Freight : ค่าระวางเรือ) ในการนำของส่งออกไปนอกประเทศ ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอ ค่าเฟรทเรือแพง ทำให้ของๆ เราจากโคราชไปถึงกรุงเทพฯ ไปต่างประเทศแพงกว่าปกติ ก็เป็นอุปสรรคในการค้า”

นอกจากนี้ นางธิดารัตน์ยังแสดงมุมมองด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมว่า ผู้ที่ประกอบการอุตสาหกรรม เป็นธุรกิจที่ไม่ได้นิ่งตลอดเวลา ไม่ได้แย่ทุกปีและทุกเดือน จะมีปัญหาที่เป็นปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบอยู่เรื่อยๆ ที่ผ่านมาที่เป็นประเด็นอยู่เรื่อยๆ ในพื้นที่ เช่น การจัดโซนนิ่ง ก็ทำให้อุตสาหกรรมปั่นป่วนพอสมควร เพราะว่าบางพื้นที่เราไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้มากหลังจากมีการจัดโซนนิ่ง แม้จะมีการตั้งโรงงานก่อนที่กฎหมายโซนนิ่งจะออกมาแต่ก็จำกัดการเจริญเติบโตพอสมควร ซึ่งส่วนนี้พอจะกล้อมแกล้มแก้กันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจ ส่วนเรื่องของวัตถุดิบตั้งแต่เกิดโควิด และปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ช็อต หรือว่าประเทศจีนเปลี่ยนนโยบายจัดการสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างกระทบวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น เหล็กแพงขึ้น คอมมูนิตี้แพงขึ้น ซึ่งต้องปรับเปลี่ยน เพราะเราอยู่ในธุรกิจการผลิต ปัจจัยการผลิตประกอบด้วยหลายส่วน ทั้งเรื่องวัตถุดิบและ conversion cost ทั้งปัจจัยเรื่องน้ำ พลังงาน ที่ใช้ในการผลิต หรือแม้แต่กำลังคนงาน เช่นล่าสุดมีการตั้งท่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะกระทบกับภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน เมื่อมีปัจจัยเข้ามาก็ต้องร่วมกันแก้ไข แต่ภาพรวมแล้วอุตสาหกรรมเกษตรยังดีอยู่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังดีอยู่ ตัวเลขส่งออกก็ยังไปได้เรื่อยๆ ซึ่งถ้าอุตสาหกรรมไปได้ค่อนข้างดี คนงานก็มีเงินเดือนขึ้น มีโบนัส มีการจับจ่ายใช้สอย มีการจ้างงานในพื้นที่ ภาพรวมเท่าที่พบกับผู้ประกอบการ พวกที่ทำส่งออกก็ยังไปได้

ท้ายสุด นางธิดารัตน์ รอดอนันต์ กล่าวว่า “ที่ผ่านมาเห็นโครงการต่างๆ ของจังหวัดนครราชสีมา ทั้งท่าเรือบก สมาร์ทซิตี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ การตัดถนนวงแหวน การมีไฮเวย์ ซึ่งการจัดการโลจิสติกส์เหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์และให้ปัจจัยบวกต่อภาคอุตสาหกรรมทั้งสิ้นในการขนส่งวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ที่จะออกไปสู่ลูกค้า เพื่อเป็นการลดต้นทุนโลจิสติกส์ โคราชมีหลายโครงการที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ที่ดิฉันและคณะกรรมการสภาฯ ที่ได้รับเลือกตั้งใหม่ ๓๗ คน มีความตั้งใจดีที่จะร่วมกันสนับสนุนโครงการดีดีของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ หรือทางสังคม ซึ่งทางสภาฯ เท่าที่เห็นมาก็ให้การสนับสนุนทั้งสองอย่างคู่กันไปเสมอๆ และคิดว่า จิตวิญญาณของสภาฯ ก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำงานในเรื่องนี้ต่อไป เราเน้นการทำงานเป็นทีม การมีส่วนร่วมกับองค์กรต่างๆ ในสังคมเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม”

ข้อมูลจาก : นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๘ วันพุธที่ ๙ – วันอังคารที่ ๑๕ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

Scroll to Top